วรรณคดีไทย

วรรณคดีไทย
ตัวละครในวรรณคดีไทย

วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553

นางละเวงวัณฬา





ผมเป็นหนึ่งในคนที่ยกย่อง"พระอภัยมณี"ว่าเป็นสุดยอดวรรณกรรม
แต่แน่ล่ะ ...เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่(อยาก)อ่าน เพราะคิดว่า"เชย" เนื่องจากบทประพันธ์ของสุนทรภู่เรื่องนี้เป็นกลอน ที่ดูจะไม่ทันสมัย เด็กไทยรุ่นใหม่จึงรู้จัก"แฮร์รี่ พอตเตอร์"มากกว่า"พระอภัยมณี"
เพราะความชอบ ผมจึงเคยเขียนถึง"พระอภัยมณี"ไว้ว่าเป็นสุดยอดวรรณกรรมของโลก

ขณะเดียวกัน โลกก็ยกย่อง"สุนทรภู่"..เป็นสุดยอดนักประพันธ์
ความยอดเยี่ยมของท่านกวียุครัตนโกสินทร์ตอนต้นผู้นี้ ทำให้เมื่อปี 2529 องค์การยูเนสโก้ ได้ประกาศยกย่อง"สุนทรภู่"ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวรรณกรรม
เป็นหนึ่งในยอดนักประพันธ์เทียบเท่าวิลเลี่ยม เช็คสเปียร์ หรือนักประพันธ์เอกของโลกอีกหลายท่าน
เรื่อง"พระอภัยมณี" เคยมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษครับ แปลไทยเป็นภาษาอังกฤษโดย พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร
(อ่านได้จาก The Story of Phra Abhai Mani ใน http://members.tripod.com/sakchaip/bookworm/sunthorn/abhai_a.html)



เขียนถึง"พระอภัยมณี" เพราะผมชอบ"นางละเวง"
ชอบตั้งแต่อ่านครั้งแรก เพราะเธอเป็น"หญิงสาว"ที่ทั้งเก่งและสวย และมีบทบาททั้งบู๊และบุ๋น นางละเวงจึงเป็นตัวละครที่ผมชอบมากกว่าตัวละครอื่นๆในวรรณกรรมเรื่องนี้
จากที่เคยชอบ"สุดสาคร"..ผมกลับเทใจรัก"ละเวงวัณฬา"



ประวัติคร่าวๆนางละเวง สรุปได้สั้นที่สุดได้ใจความว่า ....
"นางละเวงเป็นผู้ที่มีความฉลาดและมีมานะในการเรียนรู้ นางละเวงได้ครองเมืองลังกาขณะมีอายุเพียง16ปี แต่นางก็มีขัตติยะมานะที่จะเป็นกษัตริย์ อีกทั้งนางก็มีความเฉลียวฉลาดในการทำศึกสงคราม โดยการใช้กลวิธีต่าง ๆ และท้ายที่สุดก็ประสบความสำเร็จ เพราะได้ทั้งคนรักและบ้านเมืองก็ไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้น"



นางละเวง ชื่อเต็มๆคือ"ละเวงวัณฬา" แต่เรามักจะคุ้นกับชื่อ"นางละเวง"
เป็น"ตัวละครหญิง"ที่อาจจะแตกต่างกับตัวละคร(หญิง)อื่นๆใน"พระอภัยมณี"
เพราะสุนทรภู่เขียนไม่ให้เป็นกุลสตรีที่ละเมียดละไมอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนในวัง หรืออยู่ในวภาพตกใจง่าย แถมเป็นหญิงสาวอ่อนหวานและอ่อนไหวแบบขี้ขลาด-ขี้กลัว เหมือนตัวละครหญิงคนอื่น
นางละเวงถูกเขียนให้เป็นผู้กล้าหาญ ฉลาด เจ้าเล่ห์ สามารถแก้ไขปัญหาใหญ่ๆได้ รวมทั้งมีฝีมือในการรบทัพจับศึก และตัดสินใจเด็ดขาด
ถ้าจะมีลักษณะผู้หญิงอยู่บ้างก็ตรงที่"รัก"และ"หึงหวง"



อันนี้ ผมเข้าใจว่านี่เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของสตรีทั่วโลกทุกยุคทุกสมัย !!!



นางละเวงวัณฬา เปิดตัวในวรรณกรรมเรื่อง"พระอภัยมณี"ในฐานะศัตรูคู่อาฆาตกับ"นางสุวรรณมาลี"และ"พระอภัยมณี"
เปิดตัวเช่นนั้น เนื่องเพราะนางสุวรรณมาลี ซึ่งเป็นพระราชธิดาของท้าวสิลราช เจ้าเมืองผลึก สลัดรักอุศเรน พระเชษฐาของนางละเวง
เมื่อถูกตัดรัก อุศเรนจึงพกความแค้นยกทัพไปทำสงครามกับเมืองผลึก แต่เกิดพลาดท่าถูกพระอภัยมณี ที่เป็นคนรัก(ใหม่)ของนางสุวรรณมาลีจับเป็นเชลย
เมื่อเจ้าลังกา พระบิดาของอุศเรนและนางละเวง ทราบความเรื่องนี้ ถึงกับตรอมพระทัยสวรรณคต
นางละเวงวัณฬา เจ้าหญิงวัยสิบหก จึงขึ้นครองเมืองลังกาแทนพระราชบิดา



ภารกิจแรกที่นางละเวงลงมือก็คือ"ล้างแค้น"ให้พระบิดาและพระเชษฐา !!!



นางละเวงเริ่มโดยให้ช่างวาดเขียนภาพนางด้วยการใช้สีผสมยาเสน่ห์ แล้วส่งไปตามเมืองต่างๆ
ในภาพวาดนั้น นางประกาศว่าใครช่วยนางรบชนะพระอภัยมณี นางจะเลือกเป็นคู่อภิเษกสมรส
บุคคลแรกที่มาเจอรูปนางคือ "เจ้าละมาน" กษัตริย์พ่อหม้าย ที่เมื่อเห็นรูปนางละเวงก็รีบยกทัพออกจากเมืองไปทำสงครามกับพระอภัยมณี แต่กลับพลาดถ้าแพ้ต่อพระอภัยมณี
ภาพวาดที่งดงามของนางละเวงจึงตกไปถึงมือพระอภัยมณี
พลันที่เห็นภาพ พระอภัยมณีก็หลง(รูป)นางละเวงแทบเป็นบ้าเป็นหลัง



โชคดีที่"สุดสาคร" บุตรของพระอภัยมณีที่เกิดจากนางเงือกมาแก้เสน่ห์ให้ พระอภัยจึงมีสติดีขึ้น และรวมกำลังกับศรีสุวรรณและ สินสมุทร เพื่อกำจัดนางละเวง
แต่จะรบกับนางละเวงนี่ไม่ใช่เรื่องง่าย !!!
สุนทรภู่เขียนว่า พระอภัยต้องจัดทัพถึง 9 กองทัพในการบุกลังกา คือ ทัพวิลยา ชวา ฉวี ละเมด มลิกัน สำปันหนา กะวิน จีนตั๋ง และอังกุลา จึงเอาชนะได้
ที่สำคัญคือ "รบชนะ" แต่ยังมีเรื่องวุ่นวายตามมามากมายเพราะ "เสน่ห์" ของนางละเวง
ทั้งหลายทั้งปวงก็เพราะพระอภัยเองก็"หลงรัก"นางละเวง ขณะนางละเวงก็"หลงรัก"พระอภัยมณี



สุนทรภู่เขียนถึง"จิตใจ"ของนางละเวงตอนจะรบกับพระอภัยมณี
"เมื่อต่างชาติศาสนาเป็นข้าศึก สุดจะนึกร่วมเรียงเคียงเขนย
ขอสู้ตายชายอื่นไม่ชื่นเชย จนล่วงเลยสู่สวรรค์ครรไล"



โชคดีที่เรื่องนี้จบลงเมื่อพระฤาษีแห่งเกาะแก้วพิสดารมาแก้อาถรรพ์ยาเสน่ห์ พร้อมเทศนาไกล่เกลี่ย
จนทั้งหมดละความอาฆาตพยาบาทและคืนดีกัน
นางละเวงปิดฉากด้วยการยกบัลลังค์ให้ราชบุตร แล้วตัดสินใจบวชพร้อมนางสุวรรณมาลี เพื่อรับใช้พระอภัยมณี ณ เขาสิงคุตร์



ผมอ่านเรื่องนี้แล้วสรุปเองทันทีว่า"นางละเวง"งดงามมาก
เธอเป็น 1 ใน 5 มเหสีของพระอภัยมณี และเป็น"คนต่างชาติ"คนเดียว นอกนั้นมีทั้งยักษ์ เงือก และคน
ตามจิตนาการของสุนทรภู่ เขียนถึง"นางละเวง" ว่าเป็นสาวผมทอง ภาพของนางละเวงทุกจินตนาการจึงเป็น"ฝรั่ง"
ที่สำคัญ ผมคนหนึ่งที่เชื่อว่า"ละเวงวัณฬา"สวยมาก เพราะได้ยินเพลงๆหนึ่งที่ชมเธอนั่นคือเพลง"ชมละเวง"
เพลงนี้ใครฟังแล้วจะรู้สึกเหมือนผมว่า ละเวงวัณฬา"งาม" ส่วนจะงามขนาดไหน ลองฟัเงพลงสิครับ



ชมละเวง
ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา



สวรรค์สร้างเธอให้
งามสวยเลิศวิไล ดังเทพเทพี
งามเหมือนภาพเลขา เธอสวยกว่ามาลี
งามเฉิดโฉมเทพี ท่าทีเหมือนคล้ายนางละเวง



ฉันกลัวดวงเนตร
คมเหมือนเก็จมณี เป็นที่หวั่นเกรง
ปรางเหมือนกลีบบัวแย้ม งามเหมือนแก้มละเวง
เธอเฉิดโฉมชายเกรง เพ่งมองเย้ยจันทร์วันเพ็ญ



ปทุมนางงามเหนือทรวงสล้างเคียงคู่
เพียงมองดูสะท้านฤทัยใจเต้น
สวยเอยพึ่งจะเห็น แม่เป็นสุดาสวรรค์



โสภาใครเท่า
บุญของเจ้าเลิศแล้ว ดังแก้วผ่องพรรณ
ตาเหมือนหยาดน้ำค้าง เธอสวยอย่างอย่างลาวัณย์
งามผ่องพักตร์เพ็ญจันทร์ เพริดพรรณเหนือนางใดเอย



จาก บล็อก โอเคเนชั่น

นางพิมพิลาไลย หญิงงามผู้ตายเพราะถูกรัก



ถ้าถามว่า"พิมพิลาไลย"รักใคร ..คำตอบก็คงเป็น"พลายแก้ว"
"พลายแก้ว"เป็นรักแรกของพิมพิลาไลย และพิมพิลาไลย ก็คงเป็นรักแรกของหนุ่มรูปงามแห่งเมืองสุพรรณ ทำให้เจ้าหนุ่มในวัย 15 ที่อยู่ในร่มกาสาวพักตร์เป็นเณร ลักลอบเข้ามาได้เสียกับสาวงามเพื่อนเล่นตั้งแต่เด็ก และไม่นานจากนั้น เจ้าหนุ่มก็ได้ให้แม่มาสู่ขอแม่พิมฯไปเป็นเมีย
ชีวิตรักของหนุ่มหล่อกับสาวสวยน่าจะราบรื่น..หากไม่เกิดสงคราม
เพราะในช่วงที่ผัวหนุ่มเมียสาวกำลังอยู่ในช่วงข้าวใหม่ปลามัน ก็เกิดศึกเจ้าเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระพันวษา จึงมีคำสั่งให้พลายแก้วยกทัพไปเพื่อปราบปราม และเมื่อได้รับชัยชนะ พร้อมเลื่อนยศเป็น"ขุนแผน" สิ่งที่เจ้าผัวตัวดีนำมาเป็น"ของขวัญ"ให้เมียที่รออยู่ที่เรือนก็คือ"ลาวทอง" โดยอ้างว่าพระเจ้าเมืองเชียงใหม่ยกให้
เมียที่รอผัวอยู่นานนับเดือนเมื่อได้รับผลตอบแทนการรอคอยเช่นนี้ นางจึงตัดสินใจผูกคอตาย
แต่ชะตากรรมของแม่พิมฯยังไม่ถึงที่สุด เพราะ"สายทอง" มาเห็นจึงช่วยชีวิตไว้ได้ แต่ก็ทำให้ขุนแผนโกรธที่ถูกฉีกหน้า เจ้าผัวหนุ่มจึงตอบแทนเมียสาวด้วยการพาลาวทอง ไปอยู่ด้วยกันที่เมืองกาญจน์


ช่วงวุ่นวายของสงครามเชียงใหม่ เป็นโอกาสทองของ"ขุนช้าง"
ในระหว่างที่พลายแก้วไปรบและเงียบหายไปโดยไม่มีข่าวคราว และแม่พิมฯก็ล้มป่วยจนต้องเปลี่ยนชื่อแก้เคล็ดเป็น"วันทอง"จึงหายป่วย เจ้าหนุ่มอีกคนคือ"ขุนช้าง"ที่หลงรักแม่พิมมาช้านาน ก็ได้หลอกสาวงามว่าพลายแก้วตายในที่รบ และแม่วันทอง จะต้องถูกริบเป็นม่ายหลวง โดยได้บอกทางออกกับนางศรีประจันว่าจะต้องให้มีผัวใหม่เพื่อไม่เป็นแม่หม้าย
นางศรีประจันก็หลงเชื่อ จึงยกวันทองให้แต่งงานกับขุนช้าง แต่แม่พิมฯก็ไม่ยอมร่วมหอลงโรง โดยยืนกรานว่าจะรอพลายแก้วกลับมา
แต่การรอของเธอ ได้รับการตอบแทนโดย"ของขวัญ"ที่พลายแก้วนำมาให้เชยชม คือ"ลาวทอง" ทำให้นางตรอมใจจนยอมเป็นเมียขุนช้าง


สงครามแย่งหญิงงามของ 2 หนุ่มไม่จบง่ายๆ
"ขุนแผน"ต้องติดคุกเพราะฝากเวรยามให้ขุนช้างเพื่อกลับไปเยี่ยมลาวทองที่ป่วยอยู่ที่บ้าน แต่เพื่อนช้าง กลับนำความเข้ากราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวษาว่าขุนแผนหนีเวร พระพันวษาจึงสั่งลงโทษขุนแผนไปอยู่ชายแดนและกักลาวทองไว้ที่โรงสะดึงในวัง โดยขุนแผนได้พาวันทองไปด้วย ขุนช้างจึงฟ้องพระพันวษาว่าขุนแผนขโมยเมีย พระพันวษาจึงสั่งจับกุมขุนแผนกับวันทอง ทั้งสองต้องหลบซ่อนในป่า ก่อนที่ขุนแผนยอมมอบตัวเมื่อวันทองมีครรภ์ใกล้คลอด
เมื่อมอบตัว ขุนแผนก็สู้คดีชนะขุนช้าง แต่เมื่ออยู่หน้าพระพัตร์พระพันวษา ขุนแผนกลับทูลขอนางลาวทอง ทำให้พระพันวษาโกรธาในความมักมากของขุนแผน จึงรับสั่งให้จำคุกขุนแผน
ขุนช้างจึงฉุดวันทองกลับไปอยู่ด้วยกัน และไม่นานนางก็คลอด"พลายงาม" แต่กลายเป็นว่า ขุนช้างพยายามฆ่าพลายงามหลายครั้ง แม่วันทองจึงจำต้องส่งบุตรชายให้ไปอยู่กับย่าที่กาญจนบุรี และได้เรียนรู้วิชาอาคมจนกล้าอาสาศึกและช่วยพ่อพ้นโทษ


"พิมพิลาไลย"ต้องตายเพราะปฏิเสธรักไม่เป็น !!!
เพราะมีความดีความชอบจากสงคราม พลายงามที่ชนะศึกเชียงใหม่ ได้รับพระราชทานนางสร้อยฟ้าพร้อมเลื่อนยศเป็นจมื่นไวยวรนาถ ซึ่งในวันแต่งงานของจมื่นไวยกับนางสร้อยฟ้าและนางศรีมาลา แม่วันทองก็มาร่วมงานของบุตรชาย แต่ขุนช้างกลัวนางจะคืนดีกับขุนแผน จึงตามมาขัดขวางจนทะเลาะกับจมื่นไวย และจมื่นไวยได้ใช้เวทย์มนตร์ไปนำตัวมารดาไปอยู่ด้วย
ขุนช้างกลัววันทองจะไปอยู่กับขุนแผน จึงถวายฎีกาแก่พระพันวษา พระพันวษาต้องการให้จบเรื่อง จึงให้วันทองเลือกว่าจะอยู่กับใคร
แม่พิมตัดสินใจลำบาก จึงทูลพระพันวษาว่าตามแต่จะโปรด ทำให้พระพันวษาโกรธว่าวันทองมักมาก จึงทรงรับสั่งประหารชีวิตวันทอง
ชีวิตของแม่พิมฯจึงจบลงทั้งที่จมื่นไวยทูลขออภัยโทษให้มารดาได้แล้ว แต่ไประงับการประหารชีวิตไม่ทัน
"พิมพาลาไลย" สาวงามที่แทบทั้งชีวิตไม่เคยมีความสุข จึงจบชีวิตลงพร้อม"ตราบาป"ติดตัวไปว่าเป็นหญิงสองใจ ทั้งที่เธอมีรักแท้คือ"ขุนแผน" ผัวหนุ่มที่ไม่เคยให้เมียสาวรู้จัก"ความสุข" เพราะมีหญิงสาวคนอื่นมาเตียงกายตลอดเวลา ทั้งที่ปากบอกรักแม่พิมตั้งแต่เป็นสามเณร ส่วนอีกคนคือ"ขุนช้าง"ที่รักเธอจริง แต่ก็ทำทุกอย่างด้วยเล่ห์กล จนนำไปสู่การเป็น"หญิงสองผัว"
พิมพิลาไลย...เสียชีวิตเพราะถูกรัก !!!


จากบล็อก โอเคเนชั่น